การบูรณปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรม ของ เออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก

ลักษณะงานปฏิสังขรณ์

หนึ่งในปนาลีบนมหาวิหารโนเทรอดามแห่งปารีสที่เพิ่มเติมระหว่างการบูรณะโดยวียอแล-เลอ-ดุก

เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1830 ฝรั่งเศสก็เริ่มทำการบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างจากยุคกลาง วียอแล-เลอ-ดุกผู้เพิ่งกลับจากการเดินทางศึกษาในอิตาลีในปี ค.ศ. 1835 ได้รับการว่าจ้างโดยนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีพรอสแพร์ เมอริมีให้ทำการบูรณะแอบบีโรมาเนสก์เวเซอเล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตการทำการบูรณปฏิสังขรณ์อันยาวนานของวียอแล-เลอ-ดุก งานบูรณปฏิสังขรณ์มหาวิหารโนเทรอดามแห่งปารีสเป็นงานที่สร้างชื่อเสียงระดับชาติให้แก่วียอแล-เลอ-ดุก งานชิ้นสำคัญๆ อื่นก็ได้แก่ มงต์-แซงต์-มีแชล, คาร์คาโซน, ปราสาทโรเคอเทลเลด และ ปราสาทปิแยร์ฟงด์

งาน “บูรณปฏิสังขรณ์” ของวียอแล-เลอ-ดุกมักจะรวมความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์เข้ากับการเสริมแต่งอย่างสร้างสรร เช่นภายใต้การอำนวยการของวียอแล-เลอ-ดุกในการบูรณปฏิสังขรณ์มหาวิหารโนเทรอดามแห่งปารีส ไม่แต่จะทำความสะอาดและบูรณะเท่านั้นแต่วียอแล-เลอ-ดุกได้ทำการ “ปรับปรุง” (update) ที่ทำให้ได้รับหอเพิ่มขึ้นอีกหอหนึ่ง (ที่มีลักษณะเป็นมณฑป) นอกไปจากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ งานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ทำคือการบูรณปฏิสังขรณ์เมืองล้อมด้วยกำแพงคาร์คาโซนซึ่งวียอแล-เลอ-ดุกก็ใช้การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงตามแนวเดียวกัน

ในขณะเดียวกันบรรยากาศทางวัฒนธรรมของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 ก็เป็นบรรยากาศที่สับสนที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางทฤษฎีที่อ่อนตัวลง เช่นเมื่อวียอแล-เลอ-ดุกออกแบบสร้างหีบวัตถุมงคลแบบกอธิคสำหรับมงคลวัตถุมงกุฎหนามสำหรับมหาวิหารโนเทรอดามในปี ค.ศ. 1862 ในขณะเดียวกันกับที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทรงจ้างให้วียอแล-เลอ-ดุกออกแบบรถตู้อย่างหรูหราแบบกอธิคของคริสต์ศตวรรษที่ 14

งานปฏิสังขรณ์ชิ้นสำคัญ

งานบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทปิแยร์ฟงด์ที่ตีความหมายโดยวียอแล-เลอ-ดุกต้องมาหยุดลงเมื่อสิ้นสมัยการปกครองของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในปี ค.ศ. 1870

อิทธิพลต่อการอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์

ทฤษฎีของการอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์ (historic preservation) ตั้งอยู่ในกรอบของความเป็นทวิภาคระหว่างการรักษาให้คงอยู่ในสภาวะของเวลาที่ทำการอนุรักษ์ และ “การปฏิสังขรณ์” (restoration) หรือการสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อนในอดีต นักวิพากษ์ศิลป์ชาวอังกฤษจอห์น รัสคินเป็นผู้สนับสนุนปรัชญาแรกอย่างแข็งขัน ขณะที่วียอแล-เลอ-ดุกสนับสนุนปรัชญาหลัง วียอแล-เลอ-ดุกกล่าวว่าการปฏิสังขรณ์ “เป็นวิธีในการทำให้สิ่งก่อสร้างกลับไปอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ที่อาจจะมิได้เคยเกิดขึ้นจริงในอดีต”[2] วิธีการการปฏิสังขรณ์ของวียอแล-เลอ-ดุกได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงโดยจอห์น รัสคินว่าเป็น “การทำลายโดยไม่มีซากเดิมเหลือหรอไว้เป็นหลักฐาน การทำลายดังว่าควบไปกับการบรรยายอันไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกทำลายไป”[3]

ข้อโต้แย้งดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้เมื่อมีการกล่าวถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างหรือภูมิทัศน์ สิ่งที่สูญหายไปในอดีตไม่สามารถที่จะเรียกกลับคืนมาได้ แต่การที่จะทิ้งให้สิ่งก่อสร้างทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลาเพื่อที่จะรักษา “สถานะภาพปัจจุบัน” (status quo) ก็มิได้เป็นทฤษฎีที่สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์เช่นกัน การลอกชั้นต่างๆ ของประวัติศาสตร์ออกจากสิ่งก่อสร้าง ก็เท่ากับเป็นการลอกข้อมูล และ คุณค่าที่ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันการเพิ่มเติมงานใหม่เช่นที่ทำโดยวียอแล-เลอ-ดุกก็เป็นการช่วยให้ผู้ชมงานได้มองเห็นภาพของประวัติศาตร์ที่มีชีวิตชีวาขึ้น

คาร์คาโซนที่บูรณะโดยวียอแล-เลอ-ดุก